ปล่อยเรือ”ส่งเคราะห์ทางทะเล หัวหิน” ร่วมอนุรักษ์สืบสานประเพณีเก่าแก่

by Kodangkhao

ประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมากร่วมประเพณี”ส่งเคราะห์ทางทะเล และทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิม หัวหิน” ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดอนุรักษ์กันมา โดยช่วงประกอบพิธี เกิดปรากฏการณ์” พระอาทิตย์ทรงกลด” เป็นเวลานานสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่มาร่วมงานประเพณีเป็นอย่างมาก

วันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ชายทะเลหัวหิน ด้านหน้าศาลเจ้าแม่ทับทิม อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายไพโรจน์ มากหมู่ ประธานชุมชนชาวประมงหัวหิน ร่วมกับคณะกรรมการชุมชนชาวประมงหัวหิน จัดงานประเพณี “ส่งเคราะห์ทางทะเล” และทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิม หัวหิน ประจำปี 2565 โดยมีนายพลกฤต พวงวลัยสิรน นายอำเภอหัวหิน นางอุษา พวงวลัยสิน นายกกิ่งกาชาดอำเภอหัวหิน นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน นางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ คณะกรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ ตลอดจนประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ร่วมงาน

โดยมีการประกอบพิธีทางสงฆ์ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และนำเถ้าอังคารมาลอยที่บริเวณชายทะเลหัวหินแต่ไม่เคยได้กลับมาดูแลกราบไหว้ พร้อมทั้งทำบุญสะเดาะเคราะห์ ปล่อยตุ๊กตาส่งเคราะห์ทางทะเลเพื่อลดเคราะห์กรรม สิ่งอัปมงคลให้เบาบางลง ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ ทำกิจการเจริญรุ่งเรือง เสริมบารมีหน้าที่การงาน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
นายไพโรจน์ มากหมู่ ประธานชุมชนชาวประมงหัวหิน กล่าวว่าสำหรับประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเล หัวหิน เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นมา เพราะถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวหัวหินมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งมีการจัดทุกปีบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยเป็นศาลเจ้าฯซึ่งประชาชนทั่วไปให้ความเคารพบูชา เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและนำเถ้าอังคารมาลอยที่บริเวณชายทะเลหัวหินแต่ไม่เคยได้กลับมาดูแลกราบไหว้ พร้อมทั้งทำบุญสะเดาะเคราะห์ ปล่อยตุ๊กตาส่งเคราะห์ทางทะเลเพื่อลดเคราะห์กรรม สิ่งอัปมงคลให้เบาบางลง เสริมบารมีเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่จะได้ดีขึ้น

โดยหลังเสร็จสิ้นพิธีทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ และพิธีบงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการแสดงรำ ประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเล ของผู้สูงอายุ จากนั้นประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เปลี่ยนตุ๊กตาปูนปั้นหุ่น ชาย-หญิง และน้องจุก น้องแกละ ที่ทาสีสดใสแต่งกายชุดไทย เขียนชื่อ-นามสกุล ของครอบครัว ใส่เรือกระดาษที่พับเอาไว้ อธิษฐานขอให้สิ่งที่ไม่ดีหมดไปชีวิตมีแต่ความสุข ปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ ทำกิจการค้าขายเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และนำมาวางใส่เรือของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้ออกหาปลามาตบแต่งให้สวยงาม คือเรือสงเคราะห์ทางทะเล หลังจากนั้นมีการจุดประทัดจากด้านบนของศาลเจ้าแม่ทับทิม จำนวน 30,000 นัด ที่โยงลงมาจนถึงบริเวณชายทะเล เมื่อประทัดสิ้นสุดลง ทุกคนที่มาร่วมพิธีก็จะเฮโล ช่วยกันลาก”เรือส่งเคราะห์ทางทะเล” ทั้งลำ ออกสู่ทะเลโดยจะมีเรือประมงของชาวบ้าน 4 ลำช่วยกันลากเรือออกไปสู่บริเวณหินปู่โคร่งที่เป็นแหล่งปลาชุกชุม เจาะรูให้เรือส่งเคราะห์ทางทะเลที่บรรจุตุ๊กตารั่ว ก็จะจมลงทั้งลำสู่ก้นทะเล กลายเป็นแหล่งปะการังเทียมที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่อไป

ด้านนางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน กล่าวว่าทุกปีจะมาร่วมงานประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเล หัวหิน ที่มีชุมขนชาวประมงหัวหิน ร่วมกันฟืนฟูขึ้นมาเพื่อร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีดังกล่าวไม่ให้เลือนหายไป สิ่งสำคัญจะทำให้เยาวชนในรุ่นต่อๆไปได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีส่งเคราะห์ทางทะเลหัวหิน นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประเพณีและวัฒนธรรมอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าช่วงที่มีการบวงสรวง และกำลังมีการปล่อยเรือส่งเคราะห์ทางทะเลหัวหิน ได้เกิดปรากฏการณ์เกิด”พระอาทิตย์ทรงกลด” เป็นเวลานานซึ่งทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ที่ได้เห็นเชื่อกันว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของประเพณี”ส่งเคราะห์ทางทะเลหัวหิน”กัน

You may also like

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณโอเคกับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ตกลง Read More