วันที่ 10 ต.ค.65 ที่วัดนาห้วย ต.ปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อจะใกล้วันออพรรษาของทุกปี แม่ชีจำเนียน รักชม (แม่ใหญ่) พร้อมด้วย ชาวบ้านบ้านหนองกา บ้านนาห้วย ก่อนจะถึงวันออกพรรษาประมาณ 7 วัน ผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวจะเดินทางกันมาที่วัดเพื่อร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำข้าวปัดถวายพระ ข้าวปัดหรือบางแห่งจะเรียกว่าลูกโยน สำหรับที่วัดนาห้วยใช้เรียกว่าข้าวปัดจะมีการนำไปเข้าพิธีปลุกเสกในโบสถ์ก่อนที่จะนำไปให้ประชาชนที่มาทำบุญตักบาตรเทโวที่วัดได้มาซื้อนำไปถวายพระและนำกลับไปรับประทานเพื่อเป็นศิริมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว ปีหนึ่งจะทำได้ประมาณ 7000 ห่อจำหน่าย กิโลละ 100 บาท รายทั้งหมดหักค่าใช่จ่ายจะถวายให้วัดทั้งหมดเพื่อให้นำไปบำรุงพระพุทธศาสนา
ตำนานข้าวปัดหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกข้าวต้มลูกโยน สำหรับชาวบ้านบ้านนาห้วยเรียกว่าข้าวปัด ซึ่งทำด้วยกรรมวิธีเดียวกัน ต่างกันแต่เมื่อทำเสร็จแล้ว พระสงฆ์วัดนาห้วย จะนำเข้าอธิษฐานจิตภายในอุโบสถ ให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสกตลอดทั้งคืนจนถึงอรุณรุ่งของทุกๆปี จากนั้นจึงจะจำหน่ายจ่ายแจกให้ญาติโยมได้รับประทานกัน ด้วยมีความเชื่อว่า ข้าวปัด นี้ จะปัดทุกข์ ปัดโศก ปัดโรค ปัดภัย ปัดเสนียดจัญไรทั้งปวง ให้ห่างหาย สิ้นไปในเทศกาลวันออกพรรษา
ตามพุทธประวัติที่ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาจนครบไตรมาสแล้ว เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ประตูเมืองสังกัสสะ ประชาชนพากันไปต้อนรับพระพุทธองค์และทำบุญตักบาตรอย่างเนืองแน่น ซึ่งมีชาวพุทธส่วนหนึ่งได้คิดค้นการห่อข้าวต้มลูกโยน เพื่อให้สามารถใส่บาตรในระยะไกลได้อย่างแม่นยำ แล้วได้นำข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญใส่บาตรในวันเทโวโรหะนะ ฉลองการเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ของพระพุทธเจ้าด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ประเพณีนี้ได้เว้นไป 2 ปีที่ผ่าน เนื่องเกิดสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ทางวัดได้หยุดไป ซึ่งปีนี้ได้มีโอกาสกลับมาสืบสานประเพณีที่รุ่นพ่อแม่ได้ทำกันมานานกว่า 50 ปีไม่ให้สูญหายไป
แม่ชีสำเนียน รักชม กล่าวว่า ประวัติการทำข้าวปัดมีมานานกว่า 50 ปี แต่ก่อนหน้าพ่อแม่ได้ทำมาก่อนแล้วแม่ชีก็มาสืบสานต่อ การทำข้าวปัดจะทำกันในวันก่อนออกพรรษา เมื่อก่อนจะใช้การโยนแต่สมัยนี้ไม่โยนแล้ว แต่นำไปปลุกเสกในอุโบสถแล้วนำไปใส่บาตรแล้วนำไปทานเป็นยา การทำลูกข้าวปัดจะใช้ข้าวเหนี่ยว ถั่ว มะพร้าว น้ำตาล เกลือเป็นวัตถุดิบ หลังจากผ่านขั้นการมูลข้าวเหนี่ยวแล้ว จะมีชาวบ้านพร้อมใจกันมาทุกปีมาช่วยกันห่อ เห็นชาวบ้านมาช่วยกันก็ชื่นใจที่ชาวบ้านสามัคคีกัน
ด้านนางนิภา คงกะเรียน ชาวบ้าน กล่าวว่า มาช่วยทางวัดทำข้าวปัดมาหลายปีแล้ว เวลาที่วัดมีงานอะไรก็จะมาช่วยตลอด เห็นชาวบ้านมาก็รู้สึกดีร่วมๆกันทำ นอกจากได้บุญแล้วยังได้มีโอกาสสนุกสนานกับพี่ๆน้องๆ เพื่อนฝูง การทำข้าวปัดที่นี้จะมีคนที่อื่นมาสั่งไปเค้าอยากจะทานของๆเราเพราะว่าของเรามีการปลุกเสก การทำข้าวปัดถือว่าเป็นประเพณีไม่อยากให้สูญหายไป ติดโควิดไม่ได้ทำก็มีแต่คนถามทั้งนั้น การทำก็ไม่ยุ่งยากแบ่งหน้าที่กันทำ แต่ที่หนักแม่ชีเรื่องรสชาติแม่ชีแกมีสูตร
นางทองใบ รักชม ชาวบ้าน กล่าวว่า ป้ามาช่วยทำทุกปี มาช่วยวัดทำได้ บุญ สนุก ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก นึ่งข้าวเหนี่ยว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ มานึ่งข้าวเหนี่ยว แล้วเอาข้าวเหนี่ยวมาคนในกะทิ แล้วยกมาวางช่วยกันห่อ ข้าวปัดเวลาเอาไปกินก็จะหมดโรคหมดภัย
สมบัติ ลิมปจีระวงษ์ : รายงาน
จ.ประจวบคีรีขันธ์