ตำรวจสอบส่วนกลาง โดย ปคบ. ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร “ร่วมกันตรวจค้นทลายร้านค้าและโกดังที่เก็บวัตถุอันตรายโดยผิดกฎหมาย”

by Kodangkhao

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้อำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.2 บก.ปคบ. ,พ.ต.ท.กานต์กนิษฐ์ จงประเสริฐ พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ รอง ผกก.2 สั่งการให้ ชป.1 กก.2 บก.ปคบ.กรณีตรวจค้นทลายร้านค้าและโกดังที่เก็บวัตถุอันตรายโดยผิดกฎหมาย

ซึ่ง กก.2 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีผ่านทางเพจเฟสบุ๊ก “ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค” ว่ามีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ได้ลักลอบขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (พาราควอต) ให้ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวน ปราบปราม หาตัวผู้กระทำความผิด จนกระทั่งพบร้านค้าดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และได้ทำการล่อซื้อผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจากร้านดังกล่าวจนแน่ใจว่า ร้านค้านี้ลักลอบจำหน่ายวัตถุอันตรายโดยผิดกฎหมายจริงและยังมีสถานที่เก็บวัตถุอันตรายที่ผิดกฎหมายของร้านค้าดังกล่าวอีกสองแห่ง จึงได้ขออนุมัติหมายค้นต่อศาลจังหวัดจันทบุรีเพื่อเข้าตรวจค้นร้านค้าและสถานที่เก็บวัตถุอันตรายของร้านดังกล่าวอีกสองแห่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)

โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) จึงประสานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว โดยมีนายอิสระฯ (นามสมมติ) เป็นผู้ดูแลและยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบ
1. สารกำจัดศัตรูพืชเซฟ-พลัส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (พาราควอต) รวมปริมาณ 300 ลิตร ซึ่ง “พาราควอต” เป็นวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตร ห้ามผลิต นำเข้า ครอบครองและจำหน่ายโดยเด็ดขาด
2. ผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลง คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 รวมปริมาณ 60 ลิตร ซึ่ง “คลอร์ไพริฟอส”เป็นวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตร ห้ามผลิต นำเข้า ครอบครองและจำหน่ายโดยเด็ดขาด
3. ผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลง ซีทเฟท 75 ชื่อสามัญ อะซีเฟต (acephate) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 รวม 350 กิโลกรัม ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องมีทะเบียน แต่ที่ตรวจพบในร้านและสถานที่เก็บดังกล่าวตรวจสอบแล้วไม่พบทะเบียนวัตถุอันตรายแต่อย่างใด
รวมมูลค่าของกลางทั้งหมดกว่าห้าแสนบาท นำส่ง พงส.กก.2บก.ปคบ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ฐาน “ห้ามมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจับทั้งปรับ , “ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากเตือนภัย การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้ง “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” นั้น เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด ส่วนการเลือกผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายชนิดอื่น ให้ผู้บริโภคตรวจสอบฉลาก วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุ รวมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่มีเลขทะเบียนถูกต้องซึ่งสามารถตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค

You may also like

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณโอเคกับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ตกลง Read More