กระเหรี่ยง-ปกาเกอญอ บ้านป่าหมา สืบสาน รักษา ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนชาติพันธิ์ เชื่อมโยงสู่ความเชื่อด้านศาสนาและความสามัคคีในชุมชน

by Kodangkhao

ประเพณีบุญล่องแพแห่พระ ครั้งที่ 8 กระเหรี่ยง-ปกาเกอญอ บ้านป่าหมา สืบสาน รักษา ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชนชาติพันธิ์ เชื่อมโยงสู่ความเชื่อด้านศาสนาและความสามัคคีในชุมชน พร้อมพัฒนาส่งเสริมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีภูเขา แม่น้ำ สัมผัสความเป็นอยู่ของชาวกระเหรี่ยง ออนทัวร์หนาวนี้สายแคมป์ปิ้งไม่ควรพลาด ที่บริเวณลานสำนักสงฆ์วัดป่าช้างขาวบ้านป่าหมาก หมู่ที่ 8 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายไพศาล ช่อผกา นายอำเภอสามร้อยยอดเป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญล่องแพแห่พระ ครั้งที่ 8

โดยมี นางสาวอังคณา พิพัฒน์สุขสกุล นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวทิวาพร สุวรรณหงส์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่ ชาวบ้านป่าหมากรวมถึงหน่วยงานราชการ นักท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกระเหรี่ยง-ปกาเกอญอ เทศกาลนี้ทุกคนแต่งกายชุดประจำเผ่ามาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน
โดยในช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์มีนายอำเภอสามร้อยยอดผู้นำชุมชนชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่แต่งกายด้วยชุดประจำเผ่ามานั่งฟังพระสวดมนต์ให้ศีลให้พรเมื่อพิธีสงฆ์เสร็จเรียบร้อย ต่อจากนั้นก็ให้มีการแสดงของเด็กๆเชื้อสายกระเหรี่ยงจากศูนย์เด็กเล็กบ้านป่าหมากขึ้นแสดงบนเวทีสร้างสีสันต์สนุกสนานได้เป็นอย่างดี ต่อด้วยการละเล่นกระเหรี่ยงกระทบไม้เป็นการละเล่นของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่จำนวนผู้เล่นและจำนานไม้ไผ่กระทบจังหวะที่มากกว่า จนเรียกได้ว่าเป็น กะเหรี่ยงกระทบไม้ ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นเอกลักษณ์และประวัติอันยาวนาน

หลังจากนั้นเป็นการนำพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นบนแพพร้อมพระสงฆ์ จากวัดป่าช้างขาวและนายอำเภอสามร้อยยอด นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่ ผู้ใหญ่บ้านป่าหมาก ขึ้นบนแพเพื่อทำการแห่เวียน 3 รอบ ระหว่างล่องแพรเจ้าหน้าที่มีการตีฆ้องเหม่งตลอดระยะเวลาที่ล่องแพรเพื่อเป็นการเบิกฤกษ์เบิกชัย ขอให้ในหมู่บ้านมีความสุข ให้ประเพณี นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังมีการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ มีการแข่งถ่อแพ แข่งมวยลำห้วย เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน และความสามัคคีของชาวบ้านอีกด้วย
พระปฐมพร ปฐมวโร ประธานสงฆ์วัดพุทธอุทยานวัดป่าช้างขาว เล่าให้ฟังว่า การล่องแพเป็นวิถีชีวิตเดิมของชนเผ่าปกาเกอญอ หรือกระหรี่ยง ซึ่งมีมานานแล้วก่อนที่หลวงพ่อจะมา ชาวบ้านกลุ่มนี้เขาอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำสายนี้ตั้งแต่บนสุดเลยคือตั้งแต่ชายแดนลงมาเรื่อยจนเกือบถึงแม่น้ำปราณบุรี ปัจจุบันก็มารวมตัวกันตั้งหมู่บ้าน

โดยเริ่มตั้งมาประมาณปี พ.ศ. 2549 หลวงพ่อธุดงค์ จาริกมาที่หมู่บ้านนี้ก็ 10 กว่าปีแล้ว ก็ได้ถูกนิมนต์ให้มาสร้างวัดให้เขา พอมาอยู่ด้วยกันก็เห็นว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านมันสอดคล้องกับธรรมชาติ เราก็นำมาให้สอดคล้องกับวิถีพุทธด้วย ทางพุทธประเพณีแห่พระส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ทางใต้ ตรงนี้เดิมเขานับถือ เทวดา นับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม แต่พอมีมีชาวบ้านเริ่มมานับถือศาสนาพุทธแล้ว ก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้วิถีชีวิตแบบชาวพุทธ
ทีนี้เราก็เห็นว่าควรจะมีปะเพณีที่มันสอดคล้องกัน เขาก็มาร่วมกันคิด ก็เห็นว่าในช่วงฤดูกาลออกพรรษาเราจะมีการแห่พระรอบชุมชน และนำลงแพล่องในลำห้วย ก็เป็นอุบายในการที่จะสื่อความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งในการจัดงานก็จะต้องมีการเตรียมงาน เราก็ต้องแบ่งหน้าที่กันไป บางคนก็ไปหาไม้ไผ่ บางคนก็ไปหาอุปกรณ์ต่างๆ มาจัดงานจัดเวที ก็จะสร้างความรัก ความสามัคคี ให้กับชาวบ้าน นอกจากนี้ก็ยังเป็นโอกาสที่จะให้เด็กๆ ได้กลับมาบ้าน หรือว่าคนหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ก็ได้มีโอกาสนัดหมายกันว่า ออกพรรษาแล้วกลับมาบ้านกัน

ด้านนางสาวอังคณา พิพัฒน์สุขสกุล นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สมาคมได้มีส่วนสนับสนุนเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่การจัดงาน ในระหว่างของการจัดงาน และหลังการจัดงาน ซึ่งสมาคมได้เข้ามาสนับสนุนในทุกๆ ปี ถือได้ว่าชุมชนท่องเที่ยวของบ้านป่าหมากเป็นไฮไล้ท์ ของชุมชนท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบฯ และก็เป็นอันดับต้นๆ ของอำเภอสามร้อยยอดเลยทีเดียว ซึ่งที่นี่จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เหมาะสำหรับทาเก็ตนักท่องเที่ยวสายแคมป์ปิ้ง และทางชุมชนเองก็มีความพร้อม ซึ่งก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากางเต็นท์ เข้ามาเที่ยวซึมซับกับธรรมชาติ ดูวิถีชีวิตชุมชนกระเหรี่ยง ชาติพันธุ์ ตรงนี้ก็จะมีเสน่ห์มากๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่เป็นสายแคมป์ปิ้ง สายของการเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติ แล้วเราก็จะได้ความสุข ที่เป็นสุขกาย สุขใจ แบบลึกซึ้งจริงๆ

 

สมบัติ ลิมปจีระวงษ์ : รายงาน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

You may also like

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณโอเคกับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ตกลง Read More