ออกหน่วยให้บริการตรวจคลื่นหัวใจประชาชนพื้นที่หางไกลฟรีในโครงการ “หัวใจสัญจร” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการตรวจหัวใจจากแพทย์เฉพาะทาง

by Kodangkhao

https://youtu.be/xheXcY5wwtw

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับบริษัท ฟิลิปส์ ประเทศไทย จำกัด ออกหน่วยให้บริการตรวจคลื่นหัวใจประชาชนพื้นที่หางไกลฟรีในโครงการ “หัวใจสัญจร” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการตรวจหัวใจจากแพทย์เฉพาะทาง หลังสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดของคนไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี ขณะที่อัตราเฉลี่ยแพทย์โรคหัวใจในจังหวัดสระแก้ว แพทย์ 1 คนจะดูแลผู้ป่วยถึง 3,483 คน

วันที่ 21 ต.ค. 65 นพ.ประภาส ผูกดวง สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พญ.กนกพร ทองเลื่อน รอง ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องปฎิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมพิธีเปิดโครงการ “หัวใจสัญจร” ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว โดยมีเป้าหมายคือผู้ป่วยโรคหัวใจในเขตจังหวัดสระแก้วกว่า 100 คน ที่จะได้รับการตรวจหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง ที่มาพร้อมระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ

รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ระบุว่า โรคหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารไม่ถูกหลัก หรือผลที่ตามมาจากโรคประจำตัวมีทั้งเบาหวานและความดัน ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาโรคหัวใจเป็นจำนวนมากเฉลี่ยปีหนึ่งเกือบ 7,000 ล้านบาท และจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยืนยันว่าในปี 64 อัตราเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,680 คน อย่างเช่นในกรุงเทพมหานคร แพทย์ 1 คนต่อประชากร 515 คน ส่วนที่จังหวัดสระแก้ว แพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,483 คน

ทำให้ในวันนี้ ทางสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง หรือ เครื่องเอคโค่ (ราคาชุดละ 6 ล้านบาท) และระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ จากบริษัทฟิลิปส์ ไป ให้บริการผู้ป่วยในจังหวัดสระแก้ว เป้าหมาย 120 คน เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนพื้นที่ห่างไกล

ผศ.พญ.สมนพร บุญยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า โรคหัวใจมีความรุนแรงและซับซ้อน จึงต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัย สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจในครั้งแรก คือการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและเหมาะสมที่จะนำไปสู่การรักษาอย่างถูกวิธี การตรวจที่สำคัญ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือเรียกย่อๆว่า เอคโค่ (Echo) ใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวน์ผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถตรวจการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ เช่น การบีบและการคลายตัวของหัวใจ การปิด-เปิดของลิ้นหัวใจ การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยเครื่องเอคโค่ (Echo) เคลื่อนย้ายได้และเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ไม่มีรังสีอันตราย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้ ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จึงได้เลือกวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจมาใช้ในการออกหน่วยในครั้งนี้ เมื่อได้รับผลการตรวจแล้ว แพทย์สามารถพิจารณาข้อมูลเพื่อให้ได้แนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ขณะที่สถานการณ์โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้วถึง 17.9 ล้านคนในแต่ละปี หรือร้อยละ 32 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย สาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด ในห้วงปี 63 มีผู้เสียชีวิตไปถึง 21,309 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆปี และประเทศไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางไม่เพียงพอ ดูได้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในปี 64 ที่ผ่านมา สัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 1,680 คน อีกทั้งจำนวนแพทย์เฉพาะทางไม่ได้กระจายเท่ากันทั่วทุกพื้นที่ อย่างเช่น กรุงเทพฯ แพทย์ 1 คนต่อประชากร 515 คน เชียงใหม่ แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,144 คน จังหวัดกระบี่ แพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,977 คน และที่จังหวัดสระแก้ว แพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,483 คน.

 

สมสัณห์ เอี่ยมศิลป์ : รายงาน
ผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว

You may also like

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ เราจะถือว่าคุณโอเคกับเรื่องนี้ แต่คุณสามารถเลือกไม่รับได้หากต้องการ ตกลง Read More