ตราด เกษตรกรปลูกมัน ใช้พื้นที่ว่างหลังทำนา ปลูกมันสายพันธุ์ยอดฮิตกว่า 10 สายพันธุ์ ขายในราคา ก.ก.ละไม่ต่ำกว่า 10บาท สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ตลาดต้องการสูงมาก ผลผลิตมีไม่พอจำหน่าย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรในพื้นที่ควรปลูก
ภายในไร่มันตะกางโมเดล ของนายสิทธิชัย รัตนวาร อยู่พื้นที่ ต.ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด คนงานกำลังเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตมันญี่ปุ่น โดยรับออเดอร์มาจากตลาดทางภาคใต้ จะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงมาก ตอนนี้จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 10 บาท วันละ 4 ตัน รวมเป็นรายได้ อยู่ที่ วันละ ประมาณ 40,000 บาท
ปัจจุบันไร่มันตะกางโมเดล นายสิทธิชัย จะปลูกมันเทศหลายสายพันธุ์ ตอนนี้ที่นิยมจะเป็นสายพันธุ์ญี่ปุ่น เพราะเป็นมันที่มีตลาดกว้าง สามารถจำหน่ายได้หลายที่ ซึ่งตอนนี้ มีปลูกกว่า 10 สายพันธุ์ กว่า 20 ปี ที่ลองผิดลองถูก ตอนนี้ก็มีมันสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยม คือ แครอทใต้ มันม่วง และมันขาวผักกาด ที่เพิ่งนำมาปลูกจำหน่ายปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งเป็นมันที่รสชาติหวานและเนื้อนุ่ม สีภายในเมื่อต้มสุขแล้วเป็นมีเหลืองทอง รวมถึงมันญี่ปุ่นชนิดอื่นๆ สำหรับวิธีการปลูกนั้น จะเริ่มเตรียมที่ปลูกหลังฤดูฝน เตรียมที่ไว้ ตากแดดให้แห้ง ประมาณ เดือนธันวาคม ก็เริ่มปลูกได้ แต่จะต้องมีส่วนที่ต้องระวังคือ ถ้าฝนตกลงมามากก็จะทำให้หัวมันตายได้ ส่วนสำหรับถ้าช่วงไหนแล้งมากก็ต้องเตรียม น้ำไว้ให้พอต่อผลผลิตในแต่ละปี ปลูกและสามารถเก็บผลผลิตได้ ภายในระยะเวลา 3 เดือน
ด้านนายอภิเดช บุญล้อม นายกเทศมนตรีตำบลตะกาง ได้เปิดเผยอาชีพหลักของคนในพื้นที่ ต.ตะกาง นอกจากการทำสวน ทำนา แล้ว ยังมีการทำอาชีพเสริมปลูกพืชหลังนา มีทั้งปลูกพริก ปลูกมันเทศ สำหรับไร่มันตะกางโมเดลนี้ ถือว่า เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เจ้าของไร่เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมถึงยังเป็นแหล่งสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ผู้สูงอายุ ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนและผลักดันให้ เป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ต.ตะกาง และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการตลาด การแปรรูป ในอนาคตต่อไป
ธนเดช เดชะเทศ : รายงาน
ผู้สื่อข่าวจังหวัดตราด