เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ มอบหมายให้ นายประภาส ศรีจันทร์เวียง ปลัดจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟโนนนารายณ์ ไหว้เจ้าแม่โนนนารายณ์ ประจำปี 2566 โดยมี นายชาญชัย พชระวรางกูร นายอำเภอโนนนารายณ์ กล่าวรายงานการจัดงาน พร้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากโดยกิจกรรม ช่วงเช้า18 พค.จะเป็นการบวงสรวงเจ้าแม่โนนนารายณ์ ที่บริเวณศาลเจ้าแม่โนนนารายณ์ พร้อมการร่ายรำถวาย หลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงเวลา 09.00น.เป็นต้นไป มีการจัดขบวนแห่บั้งไฟของ5 ตำบล ด้วยการจัดขบวนสื่อความหมายถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นบ้าน ตลอดจนผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของแต่ละหมู่บ้าน เป็นการสื่อแสดงที่สวยงาม ไปตามถนนถึงหน้าที่ว่าการอำเภอโนนนารายณ์ ก่อนจะเข้าสู่บริเวณพิธี และจัดแสดงการประกวดร่ายรำของแต่ละตำบล
หลังจากนั้นเป็นการแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งการตำส้มตำ แข่งขันตำข้าว เป็นต้น ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอโนนนารายณ์ เป็นกิจกรรมของชนเผ่าลาวอีสาน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์มานานหลายชั่วอายุคน ได้ร่วมจัดกิจกรรมนี้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือน ของชาวอีสาน ที่นิยมทำกันในเดือนหก ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่านไถ เพื่อเป็นการบูชาพญาแถน ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เป็นพลังแห่งการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ นอกจากนี้ยังเพือ่ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขการงานราบรื่น เศรษฐกิจดีขึ้น โดยปีนี้มีผู้นำบั้งไฟมาร่วมการแข่งขันจำนวนมาก
สำหรับผลการตัดสินขบวนนางรำ งานประเพณีบุญบั้งไฟโนนนารายณ์ ไหว้เจ้าแม่โนนนารายณ์ ประจำปี 2566 รางวัลชนะเลิศได้แก่ ตำบลหนองเทพ การประกวดส้มตำลีลา รางวัลชนะเลิศได้แก่ ตำบลหนองหลวง การประกวดแข่งขันตำข้าว รางวัลชนะเลิศได้แก่ ตำบลโนน การประกวดรถแห่ รางวัลชนะเลิศได้แก่ ตำบลโนน
โดยอำเภอโนนนารายณ์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลโนน และตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็น อำเภอโนนนารายณ์ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน และกลายเป็นอำเภอลำดับที่ 17 ของจังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ บริเวณที่ว่าการอำเภอโนนนารายณ์ในปัจจุบันนี้ ได้รับการเล่าขานมาว่า ราวปี พ.ศ. 2310 ย่าสอน น้องสาวพระศรีนครเตาท้าวเธอ เจ้าเมืองรัตนบุรี ได้ตั้งชุมชนหมู่บ้านหนึ่งขึ้นในสถานที่ดังกล่าว ดังที่ปรากฏหลักฐานของความเชื่อเป็น “ศาลเจ้าแม่โนนนารายณ์” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเยื้องที่ว่าการอำเภอโนนนารายณ์จนเวลาผ่านมาถึงราวปี พ.ศ. 2420-2430 เกิดโรคห่าหรือโรคหน้าลาย
ซึ่งเรียกตามชื่อในสมัยก่อน ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงมีการอพยพผู้คนออกจากบริเวณดังกล่าว ไปตั้งชุมชนหมู่บ้านอยู่ในที่ต่างๆ โดยรอบหลายแห่ง และ ภูมิประเทศบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นโนน จึงเรียกบริเวณดังกล่าวว่า โนนหน้าลาย บางส่วนเรียกออกเสียงว่า บ้านเก่านาลาย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการตั้งชื่ออำเภอเลียนเสียงดังกล่าว และปรับใหม่จาก “หน้าลาย” หรือ “นาลาย” เป็น “นารายณ์” ซึ่งเป็นนามที่เรียก “พระนารายณ์” เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงได้ชื่อ “โนนนารายณ์” เป็นนามของอำเภอจนถึงทุกวันนี้ นายชาญชัย พชระวรางกูร นายอำเภอโนนนารายณ์ ซึ่งพื้นเพเป็นชาวตราด ย้ายมาจากอำเภอเกาะช้าง เมือ่ปี 2665 และมาเป็นนักพัฒนาที่อำเภอโนนนารายณ์ จนกลายเป็นขวัญใจของชาวโนนนารายณ์ กล่าวว่า ประเพณีบุญบั้งไฟของอำเภอโนนนารายณ์ ททท.สุรินทร์เตรียมบรรจุเข้าเป็นปฎิทินท่องเที่ยวของจ.สุรินทร์ จึงต้องการให้นักท่องเทีย่วได้เที่ยวชม ทั้งสีสันงานบุญบั้งไฟ แหล่งท่องเที่ยว และวิถีชีวิตชุมชนคนโนนนารายณ์ ที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ให้เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวต่อไปด้วย
พูลศักดิ์ บุญลอย , ศิวพงศ์ บุญลอย : รายงาน