อบจ.ระยอง ชูวิสัยทัศน์บริหารจัดการคาร์บอนเครดิต มุ่งเป้าหมาย ‘เมืองแห่งอนาคต’ เดินหน้าผลักดันการพัฒนาเมืองระยองไปสู่เมืองแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์แผนพัฒนาเมืองร่วมกับ EEC สร้างโอกาสในการลงทุนสีเขียวให้กับองค์กร Green Finance เน้นพื้นที่นำร่องในภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและป่าไม้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 13 พ.ค.67 ที่ห้องประชุมสร้อยทอง โรงแรมโกลเด้นซิตี้ อ.เมือง จ.ระยอง อบจ.ระยองร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จัด การประชุมประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนด้วยคาร์บอนเครดิต ด้วยคาร์บอนเครดิต มีนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง เป็นประธานเปิดฯ โดยมีนายกิตติ เกียรติ์มนตรี นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายก อบจ.ระยอง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ สายงานนโยบายและแผนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดร.กฤษนัยย์ เจริญจิตตร นักวิชาการอิสระ นายโชติชัย บัวดิษ นายกสมาคมการค้าท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อสุขภาพ โดยชุมชนจังหวัดระยอง นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.สบทช.1 ดร.กนกวรรณ เบญจาทิกุล ส.อบจ.ระยอง คณะผู้บริหารผู้ภาครัฐ ภาคเอกชน ปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนเข้าร่วมงาน
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง เปิดเผยว่า จังหวัดระยอง มีแผนงานและพัฒนาเมืองระยองมาอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับ EEC รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน โดยขณะนี้ได้มีการศึกษาในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนด้วยคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นโครงการที่มีการวางแผนงานมาล่วงหน้าประมาณ 2 ปีแล้ว เพราะทีมผู้บริหารและคณะทำงานของ อบจ.ระยอง เห็นถึงความสำคัญของวิกฤติโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันจะรุนแรงถึงขั้นโลกเดือด อบจ.ระยอง มิได้นิ่งนอนใจเพราะจังหวัดระยอง ทั้งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม-การท่องเที่ยว และการทำเกษตร-ป่าไม้ จึงต้องเตรียมแผนรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของประชากรในทุกๆ มิติ
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกอบจ.ระยอง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ภาวะโลกร้อน ควรเป็นความรับผิดชอบของประชาคมโลก และเราต้องเริ่มลดการปลดปล่อยคาร์บอนในชีวิตประจำวัน ซึ่ง อบจ.ระยอง ได้ดำเนินการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยงาน และดำเนินการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาคาร์บอนเครดิตส่วนท้องถิ่น ซึ่งร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และการบริการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง อบจ.ระยอง ได้มีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า ในการส่งเสริมให้ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระยะยาว รวมทั้งองค์กรต่างๆ ในจังหวัดระยองก็เริ่มตื่นตัวในการลดการใช้ทรัพยากร รู้คุณค่าในการใช้พลังงาน การประหยัดงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำประปา การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและส่วนรวม รวมถึงช่วยลดปัญหาที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทำให้จังหวัดระยอง เป็นถิ่นอาศัย สิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยมที่สามารถรองรับผู้คนและการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.ปัทมา พอดี อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า การศึกษาตังกล่าวมีประโยชน์และสร้างคุณค่า เพราะนำมาใช้ใด้จริงในการพัฒนาแผนงานของ อบจ.ระยองในระยะยาว คณะที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่และประยุกต์วิทยาการและเทคโนโลยีนำสมัย ได้แก่ เทคโนโลยีอวกาศ ภูมิสารสนเทศและดาวเทียมในการสำรวจ จัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ โดยศึกษาและลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูล ณ พื้นที่นำร่อง (Pilot Study) เกาะเสม็ด สวนประยูร ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมในการปลูกทุเรียน และบริษัท อุตสาหกรรมน้ำปลาระยอง จำกัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) และมีการจัดทำคาร์บอนฟุตปริ้นองค์กร (CFO) โดยลงพื้นที่ อบจ.ระยอง เพื่อตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากล ที่มุ่งเน้นใน 4 ด้านคือ การจัดการความยั่งยืน ความยั่งยืนด้านสังคมและเศรษฐกิจ ความยั่งยืนด้านวัฒนธรรม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเชื่อมโยงกับความสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัดระยอง อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์(Ecotourism) การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) และท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการ (Recreational Attraction) ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศของจังหวัดระยองและนำไปสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่ในอนาคต ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตจึงมีมูลค่าและมีประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือ ระยะสั้น คาร์บอนเครดิต จะเป็นมาตรการที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนหันมาเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊ซเรือนกระจก ในระยะยาวนั้น ภาคธุรกิจจะเกิดการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งจะเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คณะที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนด้วยคาร์บอนเครดิต ดร.ปัทมา พอดี หัวหน้าโครงการ email : pattamap@go.buu.ac.th