วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) ดร.จินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยว่า ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาโดย รศ.ดร.สุดาวรรณ สมใจ หัวหน้าโครงการ ร่วมจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน บุคลากรจากสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้นำชุมชน รวมทั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
โดยการประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะเป็นการนำเสนอผลจัดประชุมสนทนากลุ่ม Focus group และช่วงที่ 2 จะเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) โดยจัดรูปแบบกลุ่มย่อย และระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ด้านกระบวนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ ผลกระทบเชิงบวก/เชิงลบจากการเข้าร่วมโครงการ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการทำงานของ กสทช.ต่อไป โดยขั้นตอนสุดท้าย กตป.จะนำผลสรุปไปวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไปตามหน้าที่และอำนาจในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 71-73
การจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจัดขึ้นในพื้นที่ 6 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคกลาง จังหวัดนครปฐม ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และภาคตะวันตก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อการรวบรวมวิเคราะห์สรุปผลและการจัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน การดำเนินการเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. จะดำเนินการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลเป็นรายด้านตามความเชี่ยวชาญของกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
ดร.จินตนันท์ กล่าวว่าการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งใน 6 ภูมิภาคนั้นมาจาก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อกิจการโทรทัศน์ ทั้งกลุ่มองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหา การกำกับดูแล และรายการที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีผลต่อประชาชนนอกจากยังรวมถึงมิติทางด้านจริยธรรมของสื่อ ว่าควรส่งเสริมอย่างไรให้ผู้ประกอบการผลิตรายการที่มีคุณภาพ ให้มีข้อมูลที่แท้จริง และถูกต้อง
ดร.จินตนันท์ กล่าวต่อว่า การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ของกตป.นั้น เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของ กสทช. ทั้งการมุ่งดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม รวมถึงท้องถิ่นทุรกันดารของประเทศไทยมีสิทธิในการรับบริการด้านการสื่อสาร ขั้นพื้นฐานและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทำมาหากิน ทำธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในภาพรวม
ดังนั้นในฐานะที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากวุฒิสภาเพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล การทำงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงมีส่วนสำคัญในการเสนอแนะให้ กสทช. มีการปรับบทบาทให้ทันต่อยุคสมัย ต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องมือ กฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นต่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม